06/06/2023

ข่าวสารการศึกษา

ข่าวสารการศึกษา นักเรียน นักศึกษา ข่าวทั่วไป

รร.บ้านแม่ระเมิง ครูดอย คิดค้นโมเดล ห้องเรียนไร้พรมแดน

เพื่อเปิดโลกกว้างให้กับนักเรียนซึ่งเป็นชาวชนเผ่าปกาเกอะญอ 100% ได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆ เนื่องจากที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร กลางหุบเขา ทำให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างจำกัด

“ห้องเรียนไร้พรมแดน” โรงเรียนบ้านแม่ระเมิง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2

รูปแบบในการจัดการเรียนการสอนที่ได้นำนวัตกรรม “KRUDOIS Model” หรือ “ครูดอย โมเดล” เข้ามาใช้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านแม่ระเมิง เพื่อเปิดโลกกว้างให้กับเด็กนักเรียนซึ่งเป็นชาวชนเผ่าปกาเกอะญอ 100% ได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆ เพราะด้วยสถานที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่เมย ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร กลางหุบเขา จึงต้องใช้กระแสไฟฟ้าผ่านพลังงานทดแทน รวมถึงการใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ส่งผลให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างจำกัด

ดังนั้น “จารุพร จะนะ” หรือชื่อที่นักเรียนเรียกกันสั้นๆ ว่า “ครูนู” จึงได้นำนวัตกรรม “KRUDOIS Model” หรือ “ครูดอย โมเดล” เข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียน “ครูนุ” บอกว่า โรงเรียนบ้านแม่ระเมิง เป็นโรงเรียนขยายโอกาสขนาดใหญ่ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาศึกษาปีที่ 6 และมีโรงเรียนสาขา ที่อยู่ในความรับผิดชอบอีก 1 แห่ง คือ โรงเรียนสาขาบ้านตะพิเดอ และห้องเรียนสาขา ที่กระจายอยู่ตามหย่อมบ้านอีกจำนวน 12 แห่ง  การนำนวัตกรรม “ครูดอย โมเดล”  เข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียน เพื่อพัฒนาทักษะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่บูรณาการระหว่างรายวิชาในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้เข้าด้วยกัน ประกอบไปด้วย ชีววิทยา ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคมศึกษา และคอมพิวเตอร์ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลางในการประสานอย่างสร้างสรรค์ขับเคลื่อนกิจกรรม สร้างนวัตกรรมผ่านเทคโนโลยีใกล้ตัว และยังถือเป็นการร่วมมือกันในการ พัฒนาการเรียนรู้ระหว่างครูผู้สอนด้วยกระบวนการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ PLC (Professional Learning Community) ที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของครูและผู้บริหาร จนนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบ “ห้องเรียนไร้พรมแดน” โดยมีครูจากต่างประเทศเป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ หนึ่งในนั้นคือ “คุณครูไซนุดดิน” ซึ่งเป็น ครูรางวัลเจ้าฟ้ามหาจักรี (ประเทศมาเลเซีย) ด้วย 

สำหรับการจัดการเรียนรู้แบบ “ห้องเรียนไร้พรมแดน” โดยใช้นวัตกรรม “KRUDOIS Model” เพื่อพัฒนาทักษะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 มีกระบวนการ 6 ขั้นตอนคือ

K : Knowledge Construction “สร้างความรู้ ความเข้าใจ ICT” เป็นการสอนเสริมโปรแกรมพื้นฐานต่าง ๆ  รวมถึงเทคนิค การใช้ ICT การสร้างชิ้นงานการพัฒนาผลงานของนักเรียนเพิ่มเติมนอกเหนือจากในชั่วโมงเรียน โดยอาศัยความร่วมมือจากครูในรายวิชาคอมพิวเตอร์ และครูที่มีความถนัดในการใช้  ICT เป็นผู้จัดกิจกรรมการเรียนรู้  

R : Related Information Work Shop “จัดว่าดี มี Work Shop ก่อนหรรษา” เป็นการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้าน ICT ในหัวข้อต่าง ๆ เช่น การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร, การถ่ายภาพ ตัดต่อวิดีโอ ด้วย Smart Phone,  การปลูกฝังการใช้ ICT ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน โดยเน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง 

U : Union For Development “ชวนมาเลย์ อินโด ร่วมพัฒนา” เข้าร่วมโครงการห้องเรียนไร้พรมแดน ร่วมกับประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้รับเกียรติจาก “คุณครูไซนุดดิน” เป็นผู้ก่อตั้งและร่วมประสานงาน โดยผ่านช่องทาง FaceBook กลุ่ม และทางสื่อ Social Media ต่างๆ   

D : Design By OneNote “ใช้ OneNote ให้มา ติดต่อกัน” ครูผู้ประสานงานประชุม Conference เพื่อคิด Mission ต่างๆ ท้าทายความสามารถของนักเรียน โดยแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม 19 กลุ่ม กลุ่มละ 3 คน 1 กลุ่มมีนักเรียนจากทั้ง 3 ประเทศ ทำความรู้จักกันผ่านสื่อ Social Media มอบหมายงานและตรวจชิ้นงานจาก OneNote 
           
O : Our Team Our Group “พี่สอนน้อง เพื่อนสอนเพื่อน ช่างสุขสันต์” คนที่สามารถใช้โปรแกรมต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว จะทำหน้าที่ช่วยสอนและแนะนำเพื่อน นอกเหนือจากเพื่อนในห้องแล้ว ยังสร้างเป็นเครือข่ายขยายผลในโรงเรียน ให้นักเรียนในระดับชั้นอื่นๆ สามารถใช้ ICT ให้เกิดประโยชน์ 
         
IS : Interactive & Skillful Communication “สร้างสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนไกล ไร้พรมแดน” เป็นการต่อยอดโดยการนำชิ้นงานที่ได้รับมอบหมาย แบ่งปัน เรียนรู้ซึ่งกันและกันกับเพื่อนต่างชาติ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เผยแพร่ความรู้ และผลงานระหว่างกัน โดยผ่านเทคโนโลยี ซึ่งเพื่อนนักเรียน ครู และผู้ที่สนใจ สามารถเข้ามาร่วมศึกษา ติชม ให้คำแนะนำ และร่วมแสดงความคิดเห็น โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ในการเรียนรู้

นวัตกรรม “KRUDOIS Model” หรือ “ครูดอย โมเดล” ที่โรงเรียนบ้านแม่ระเมิงนำมาใช้นั้น นับได้ว่าเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนการเรียนรู้ของโรงเรียนในพื้นที่สูง ถิ่นทุรกันดาร เพื่อทำลายกำแพงการเรียนรู้ และก้าวข้ามขีดจำกัดต่างๆ สู่ “ห้องเรียนไร้พรมแดน”