06/06/2023

ข่าวสารการศึกษา

ข่าวสารการศึกษา นักเรียน นักศึกษา ข่าวทั่วไป



ข่าวคลิปร้อน “ครู”…“ครูพี่เลี้ยง” เด็กนักเรียนระดับชั้นอนุบาล โรงเรียนดังสะท้อนหัวใจ “พ่อแม่ผู้ปกครอง” ให้ต้องหันมาสนใจไถ่ถามทุกข์สุขของลูกๆหลานๆในบ้านมากยิ่งขึ้นกว่าทุกยุคสมัย

ขณะที่เงื่อนปมปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ พิบูลย์ ยงค์กมล ประธานอำนวยการโรงเรียนในเครือสารสาสน์ ก็ออกมายอมรับและต้องขอบพระคุณที่มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ทำให้รู้อะไรได้มากขึ้น…

เพราะก่อนหน้านี้คิดว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี แต่ตอนนี้ไม่เรียบร้อย ก็ต้องแก้ไขโดยด่วน

ข้อมูลเปิดเผยระบุว่า กลุ่มโรงเรียนสารสาสน์มีเครือข่ายเกือบ 50 สาขา อาทิ โรงเรียนสารสาสน์วิเทศนครปฐม, โรงเรียนสารสาสน์วิเทศสมุทรปราการ, โรงเรียนสารสาสน์วิเทศสายไหม ฯลฯ

…มีนักเรียนในเครือกว่า 90,000 คน

จากการตรวจสอบข้อมูลทางบัญชี บริษัท แสงเงินพัฒนาการ จำกัด ผู้ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชน “สารสาสน์” พบว่าแจ้งงบการเงินรอบปีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2562 รายได้รวม 1,452,986,882 บาท กำไรสุทธิ 367,764,734.19 บาท สินทรัพย์ 7,157,070,304 บาท หนี้สิน 2,500,320,779 บาท กำไรสะสม 4,556,749,524 บาท

ในงบการเงินรอบปี 2561 ระบุถึง “ต้นทุนการให้บริการ” 442,899,765 บาท แยกย่อยเป็น…“เงินเดือนครูและบุคลากร” 332,167,865 บาท, ค่าโภชนาการ 47,620,439 บาท, สินทรัพย์ 6,261,215,607.78 บาท

และในจำนวนนี้เป็นสินทรัพย์ที่เป็น “ลูกหนี้นักเรียน” 47,079,452 บา

ปุจฉาสำคัญ…การมีโรงเรียนสาขามากจนควบคุมคุณภาพไม่ได้นั้น การได้มาซึ่ง “ใบอนุญาตโรงเรียน” ต้องผ่านมาตรการยากง่ายอย่างไรบ้าง?

ผู้สันทัดกรณีในแวดวงสถานศึกษาเอกชนมากว่า25 ปี ย่านนนทบุรีขอสงวนชื่อสะท้อนประสบการณ์ให้ฟังว่า “ใบอนุญาตโรงเรียน” จริงๆแล้ว “เจ้าของโรงเรียน” สามารถถือใบอนุญาตได้หลายใบ ไม่ได้มีข้อห้าม

“สมัยก่อนคุณสมบัติผู้ได้รับใบอนุญาตจบ ม.6 ก็เป็นได้ มองว่าแค่เป็นนายทุน มีเงิน แต่ในการบริหารงานก็อีกชุดหนึ่ง ซึ่งมาสมัยยุคนี้ไม่ได้แล้ว ขั้นต่ำต้องจบปริญญาตรี

โรงเรียนแต่ละแห่งจะมีใบอนุญาตหนึ่งใบ มีหลายสาขาก็สาขาละใบแยกกัน”

ถามว่าใบอนุญาต “ขอยากหรือง่าย”? ผู้สันทัดกรณีรายเดิม บอกว่า ถ้าเรามีหลายอย่างพร้อมตามปัจจัยองค์ประกอบของ “กระทรวงศึกษาธิการ” กำหนดก็ไม่ยากเท่าไหร่ พูดง่ายๆ…ถ้าเรามองว่ายิ่งมีเงิน มีประสบการณ์ กรณีโรงเรียนเอกชนชื่อดังที่เป็นข่าวไม่ได้บอกว่าเขาไม่ดีนะ ไม่ใช่เรื่องยากแน่นอนที่จะขอเพราะมีประสบการณ์ ขยายสาขาแล้วก็ขยายต่อไปได้ เพียงแต่ว่า…ในการควบคุมคุณภาพต้องตระหนักคิดแล้วว่าจะทำได้หรือไม่

“กรณีเจ้าของที่เป็นศูนย์กลางคนเดียว เราไม่สามารถดูได้ทั้งหมด ก็ต้องกระจายอำนาจไปให้กับคนอื่นๆดู ถามว่าคนอื่นจะดูได้ดีเหมือนเจ้าของไหมก็คงไม่ใช่”

ถามต่อไปว่า…เงื่อนปัญหาสำคัญเกิดจาก “ระบบ” “ตัวบุคคล” หรือ “การบริหารจัดการ”?

เท่าที่เคยมีโอกาสได้พูดคุยถามไถ่กับคนรู้จักถึงลักษณะงาน…หนึ่งในเป้าหมายที่มีความชัดเจนเลยคือ แต่ละโรงต้องการเด็กเท่าไหร่ อย่างน้อยกี่คน 1,000 คน…2,000 คน…3,000 คน

พรั่งพร้อมด้วยสถานที่ โครงสร้างอาคาร แล้ววิธีการเมื่อโรงเรียนต้องเปิด จะไปหาครูจากที่ไหน? ก็ไม่มีทางที่จะเป็นครูใหม่ๆที่ผลิตออกมาได้ ก็ต้องอยู่ในย่านนั้น…ไม่เฉพาะครู รวมทั้งเด็กๆด้วยที่เป็นเป้าหมาย

“เมื่อไหร่ที่โรงเรียนเกิดขึ้น ก็จะมีแรงกระเพื่อมสำคัญโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กจะมีผลกระทบมากๆ ถ้าไม่แข็งจริงก็อยู่ไม่ได้ หนึ่ง…ดึงครู สอง…ดึงเด็ก ย่อมต้องส่งผลกระทบกับโรงเรียนเอกชนละแวกเดียวกัน”

นั่นคือในการบริหารจัดการ ซึ่งระดับบนๆเอาแค่ตรวจตราเดินดูความเรียบร้อยในแต่ละอาคารก็หมดเวลางานแล้ว สมมติว่าอนุบาลหนึ่งชั้นมี 10 ห้อง สามชั้น…ก็ 30 ห้อง เช้าบ่ายก็หมดเวลาแล้ว นี่ยังไม่รวมชั้นประถม มัธยมที่แยกกันดูแลออกไปโดยเฉพาะ นึกภาพตาม…จะครบถ้วนสมบูรณ์ทุกห้องทุกวันมากน้อยแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง

“จ้างผู้บริหารมาเพื่อดูแลความเรียบร้อย มุมหนึ่งเป็นเรื่องดี แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องไม่ดีกระทบต่อการทำงานของครู…ปริมาณเด็กเทียบสัดส่วนกับผู้ดูแลเหมาะสมหรือไม่ก็ต้องไปคิดกันเอาเองถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

ถามต่ออีกว่า…ระบบการทำงานอย่างนี้ดีหรือเปล่า เหมาะสมหรือไม่?

ครั้งหนึ่งได้ไปดูงาน โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย สมัยผู้บังคับการ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ผ่านมานานหลายปีแล้วยังจำสิ่งที่ท่านสอนได้อย่างแม่นยำ ประโยคหนึ่งที่ท่านพูด…“การบริหารงานที่ดีต้องกระจายงานออกไป เมื่อกระจายงานออกไปแล้วถ้าดีที่สุดประสิทธิภาพของมันต้องเกิดแม้กระทั่งมีหรือไม่มีผู้อำนวยการอยู่ในโรงเรียน ณ เวลานั้น”

ทุกคนต่างรู้หน้าที่ของตัวเอง ไม่ใช่ว่าผู้อำนวยการไม่อยู่…เละเทะ คุณครูแฮปปี้ ลิงโลดก็คงไม่ใช่ ทุกอย่างสถานการณ์ต้องปกติ…แง่มุมหนึ่งการเดินดูทุกวัน ทั้งวันก็เท่ากับเป็นการจับผิด ครูอาจจะคิดว่าทำผิดอะไรหรือเปล่า ปัญหาทุกโรงเรียนมีแน่นอนมากบ้างน้อยบ้าง แต่ปัญหาเกิดขึ้นแล้วเราจะต้องไม่ไปตามถึงความถูก…ผิด

แต่จะมาตามกันว่า…ปัญหานี้จะแก้ยังไงร่วมกัน ถึงจะยึดโยงกัน “ระบบมีปัญหาก็จะกระทบต่อเนื่องไปถึงคน…บุคลากรในโรงเรียน ที่เกิดปัญหาขึ้นมา ตามที่เป็นข่าวร้อนต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้”

“กรณีปัญหาครูโรงเรียนดังทำร้ายเด็ก ไม่รู้เท็จจริงแค่ไหน…แต่รู้มาว่าเป็นช่วงรอยต่อผู้บริหาร สุญญากาศเปลี่ยนผ่านไม่มีใครจะดูแล เราจะเห็นว่า…ผู้บริหารอยู่ไหนไม่รู้ ณ เวลานั้น พอไม่มี…คุณครูอาจจะคิดว่าด้วยชื่อเสียงความเป็นโรงเรียนดัง อาจไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาร้ายแรงเป็นกระแสโด่งดังสังคมสนใจมากถึงขนาดนี้”

ต่อเนื่องไปถึงประเด็น “การขยายตัวของธุรกิจโรงเรียนที่รวดเร็ว” บางครั้งก็ต้องตั้งคำถามสำคัญในหลายๆเรื่องตามมาด้วย เช่น บุคลากร… ครูจะมาจากไหน ก็อาจจะอาศัยหมุนเวียน สับเปลี่ยนในโรงเรียนเครือข่าย แน่นอนว่าจะไม่มีคนทำงานที่เป็นหลัก มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นประจำ

กระนั้นแล้วต้องเข้าใจด้วยว่า…ปัญหาเกิดขึ้นได้ แต่หากเราวางโครงสร้างเอาไว้ดี ให้ทุกคนดูแลตัวเองได้ ทุกคนปกครองตัวเองได้… ก็จะเป็นโรงเรียนที่ดีและมีความสุขได้

อีกมิติปัญหาในส่วน “ผู้ปกครอง” ต้องยอมรับว่ายุคนี้ก็ไม่ค่อยเคารพครูมากเท่าใดนัก มองแบบว่าฉันจ่ายเงินเสียเงินแล้วจะต้องได้ในสิ่งที่ฉันต้องการตอบแทน “เคสครูจุ๋ม” เป็นสิ่งที่สะท้อนได้ดี ไม่ได้บอกว่าครูเป็นฝ่ายถูก หรือผู้ปกครองผิด แต่…ความยึดโยงระหว่างครู ผู้ปกครอง ลูกศิษย์หายไป พอมีปัญหาก็ไปแจ้งความไปโรงพัก

ต้นแบบ “ครูที่ดี” จะหายไป แต่แทนที่ด้วย “ครูตามกฎ” ทำอย่างนี้… อย่างนี้จึงจะเกิดจริยธรรมครู แต่จิตวิญญาณครูจะเกิดขึ้นเองจริงๆไหม ทั้งที่คนเป็น “ครู” ควรที่จะมาจาก “จิตวิญญาณ” ที่แท้จริง…สภาพสังคม ความผูกพันที่จางหายไป เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแน่นอนว่าจะทำให้ “ครูเอกชน” ขวัญเสียกันพอสมควร

ภาพใหญ่ทั้งระบบวิธีการแก้ปัญหาทางออกต้อง “ยุติธรรม” กับทุกฝ่าย ผู้ใหญ่ควรวางตัวเป็นกลาง ทัศนะมุมมองต้องมองถึงปัญหาที่แท้จริง เอากรณีนี้ถอดเป็นบทเรียนว่าเกิดอะไรขึ้น “กระทรวงศึกษาธิการ” มีส่วนไหมในฐานะเป็นพ่อ…แม่ที่เป็นต้นแบบควบคุมกำกับดูแลโรงเรียนทั้งประเทศไทย หรือควรมีบทบาทอะไรบ้าง?

อย่าลืมว่าเราทำหน้าที่อะไรอยู่ เราต้องไม่บกพร่องในหน้าที่ของเรา อย่าทำงานเอาแค่ตัวรอด อยากได้หน้า…ต้องมองไกลมุ่งไปสู่อนาคต ที่เกิดการพัฒนา “ระบบการศึกษาไทย” สร้างชาติอย่างยั่งยืน.