10/01/2023

ข่าวสารการศึกษา

ข่าวสารการศึกษา นักเรียน นักศึกษา ข่าวทั่วไป

ตั้งอว.ส่วนหน้าขับเคลื่อนประเทศ

เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า ในการประชุมเชิงปฎิบัติการเรื่อง “ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันเพื่อพัฒนาจังหวัดด้วยอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อววน.)” เมื่อเร็วๆนี้  อว.ได้จัดตั้ง “อว.ส่วนหน้า” หรือ หน่วยปฏิบัติการส่วนหน้าของ อว.ตามนโยบายโครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดย อว.ส่วนหน้า มี 2 ระดับ คือ ส่วนกลาง มีปลัด อว.เป็นประธาน และ รมว.อว. เป็นที่ปรึกษา และ ส่วนหน้า แบ่งเป็นระดับจังหวัด มีตัวแทนมหาวิทยาลัยในแต่ละจังหวัดขับเคลื่อน และระดับกลุ่มจังหวัด มีเครือข่ายมหาวิทยาลัย 9 เครือข่ายเป็นตัวขับเคลื่อน โดย อว.ส่วนหน้า ทั้ง ระดับจังหวัด ระดับกลุ่มจังหวัด ทำงานร่วมกัน และเชื่อมโยงกับส่วนกลาง ทั้งนี้ การดำเนินงาน อว.ส่วนหน้า จะช่วยให้อาจารย์ นักวิจัย ออกจากห้องเรียน ห้องแลป ไปทำงานจริงและแก้ปัญหาจริงในพื้นที่ต่างๆ

รมว.อว.กล่าวต่อไปว่า การทำงานของ อว.ส่วนหน้า จะเป็นการผสมผสานและสนธิกำลังของหน่วยงานต่างๆใน อว. เกิดเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย ในระบบ อววน. ทั้งหมด ซึ่งเป็นการปรับการทำงานแบบทำคนเดียว เปลี่ยนเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหลายๆหน่วยงาน มีการทำงานร่วมกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ มหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชมงคล และ หน่วยงานวิจัยใน

“โครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน เป็นโอกาสทอง ที่หน่วยงานจะได้แสดงฝีมือการทำงาน และทำให้สังคมและรัฐบาลเห็นว่าการพัฒนาประเทศจากนี้ไป ล้วนต้องการความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่ง อว มีพร้อม จากในอดีตที่มีเพียง สภาพัฒน์ฯ เป็นผู้มีบทบาทในการพัฒนาประเทศ แต่ปัจจุบัน อว. สามารถเข้ามาสนับสนุนการทำงานของสภาพัฒน์ฯ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี เพราะองค์ความรู้และข้อมูลที่ อว. มีนั้นเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญของประเทศ” ศ.ดร.เอนก กล่าวและว่า นอกจากการทำงานของ อว.ส่วนหน้าแล้ว อว.ยังมี 5 โครงการสำคัญที่จะดำเนินการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี  คือ  1. โครงการ อว.จ้างงาน (3,000 ตำบล) และ โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย   2. เมกกะแฮกกาธอน (Mega-Hackathon) ให้เยาวชนได้ช่วยคิดแก้ปัญหานโยบาย ใช้เครื่องมือไอทีและโลกไซเบอร์มาช่วยคิดและช่วยให้เกิดแผน 3. การมองอนาคต (Foresight) คิดแผนอนาคต ครอบคลุมประเด็นสังคม-สิ่งแวดล้อม แต่ละจังหวัดใน 3-5 ปี 4. การพัฒนาบุคลากรให้เข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation)โดยเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้เยาวชนจำนวน 250,000 คนภายใน 1 ปี  และ 5. การพัฒนาคนในวัยเกษียณให้เป็นพลัง เนื่องจากจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศในอนาคตอันใกล้ อาจพิจารณาแนวทางการปรับปรุงการเรียนรู้และทักษะสร้างงาน สร้างผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี และเป็นประโยชน์กับประเทศ.